การนำเสนอ...โดยการเขียนโครงเรื่อง
ทักษะการส่งสาร...การเขียน
การเขียนเป็นการส่งสารโดยใช้ตัวอักษรเป็นสื่อสำคัญในการถ่ายทอดสารต่างๆทั้งสารข้อเท็จจริง สารแสดงความคิดเห็น
และสารแสดงความรู้สึก
ความสำคัญของการเขียน
การเขียนมีความสำคัญการการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมมาก เพราะมนุษย์ในสังคมใช้การเขียนเป็นเครื่องมือ
ในการบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ
*** การเขียนเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สื่อสารแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึกเป็นลายลักษณ์อักษร
*** การเขียนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันของมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยดี
*** การเขียนเป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรมบอกถึงความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมและวิวัฒนาการ
ของมนุษย์และเป็นบันทึกมรดกทางสังคมและช่วยถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ฯลฯ
ความสามารถในการเขียนของแต่ละคนขึ้นอยู่กับกระบวนการคิดและความสามารถในการถ่ายทอดภาษา หากมีความคิดดี
แต่ไม่มีความสามารถในการใช้ภาษา ขาดทักษะการเขียนที่เป็นระบบก็ไม่สามารถถ่ายทอดความคิดนั้นให้คนอื่นรับรู้ได้หรือ
ถ่ายทอดได้แต่ไม่ดีเท่าที่ควร
การเขียนโครงเรื่อง
การเขียนโครงเรื่องเป็นการจัดลำดับความคิด วางแนวทางหรือกรอบของเนื้อหาของงานเขียน ทำให้ผู้เขียนสามารถจัดลำดับ
หัวข้อ/เนื้อหาการเขียนได้ครบถ้วนตรงกับหัวข้อหรือชื่อเรื่องที่วางไว้ การเขียนโครงเรื่องผู้เขียนจะแบ่งเนื้อหาการเขียนเป็นหัวข้อ
หลัก หัวข้อรอง หัวข้อย่อย
โครงเรื่องทำให้ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลง่ายไม่เสียเวลาและเนื้อหางานเขียนเป็นลำดับต่อเนื่องไม่วกวนสมบูรณ์มีคุณภาพอ่าน
เข้าใจง่าย สามารถนำโครงเรื่องที่วางไว้มาปรับเขียนเป็นสารบัญได้ด้วย การเขียนโครงเรื่องจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้เขียนควร
ทำก่อนหาข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อหา
โครงเรื่องมี 3 ประเภท
1. การเขียนโครงเรื่องแบบคร่าวๆ
2. การเขียนโครงเรื่องเป็นหัวข้อ
3. การเขียนโครงเรื่องเป็นประโยค
ตัวอย่างรูปแบบการเขียนโครงเรื่อง
การเขียนโครงเรื่องแบบคร่าวๆ
สาเหตุของอาหารเป็นพิษ
- สารพิษตามธรรมชาติ พืช/สัตว์
- สารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารจุลินทรีย์/เชื้อโรค
- สารพิษจากการกระทำของมนุษย์สารเคมีการเกษตร/วัตถุเจือปน
ในอาหาร/สีผสมอาหาร
การเขียนโครงเรื่องเป็นหัวข้อ
สาเหตุของอาหารเป็นพิษ
1. สารพิษที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
1.1 สารพิษจากพืช
1.2 สารพิษจากสัตว์
2. สารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร
2.1 สารพิษจากจุลินทรีย์
2.2 สารพิษจากเชื้อโรค
3 สารพิษจากการกระทำของมนุษย์
3.1 สารเคมีในเกษตร
3.2 วัตถุเจือปนในอาหาร
3.3 สีผสมอาหาร
การเขียนโครงเรื่องเป็นประโยค
สาเหตุของอาหารเป็นพิษจำแนกออกเป็น 3 ประเภท
1. สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากสารพิษที่มีอยู่ในธรรมชาติ
1.1 สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากสารพิษในพืช
1.2 สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากสารพิษใน สัตว์
2. สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร
2.1 สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากจุลินทรีย์
2.2 สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากตัวเชื้อโรค
3. สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากการกระทำของมนุษย์
3.1 สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากสารเคมีการเกษตร
3.2 สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากวัตถุปนเปื้อน
3.3 สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากสีผสมอาหาร
วิธีการเขียนโครงเรื่อง มี 4 ขั้นตอน
1. รวบรวมความคิด ข้อมูลเป็นข้อๆ (ระดมความคิด)
2. จัดหมวดหมู่ข้อมูลและจัดลำดับความสำคัญของแต่ละหัวข้อ
3. จัดลำดับของหัวข้อแต่ละหัวข้อให้มีเนื้อหาต่อเนื่องเป็นลำดับและสัมพันธ์กัน ผู้เขียนสามารถจัดลำดับเนื้อหาตามลำดับ
เวลา/ตามประเพณีนิยม/ตามความสำคัญน้อยไปสำคัญมากหรือสำคัญมากไปหาสำคัญน้อย เป็นต้น
4. เขียนโครงเรื่องให้เป็นระเบียบใช้รูปแบบการเขียนแบบเดียวกันตลอดเนื้อหา และจัดหัวข้อแต่ละข้อเยื้องไปทางขวา เช่น
1. หัวข้อหลัก หรือ หัวข้อหลัก
1.1 หัวข้อรอง ก. หัวข้อรอง
1.1.1 หัวข้อย่อย - หัวข้อย่อย
1.1.2 หัวข้อย่อย - หัวข้อย่อย
1.2 หัวข้อรอง ข. หัวข้อรอง
1.2.1 หัวข้อย่อย - หัวข้อย่อย
1.2.2 หัวข้อย่อย - หัวข้อย่อย
2. หัวข้อหลัก หัวข้อหลัก
แหล่งข้อมูลดีๆ จาก:
คณาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ภาษาไทย 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
_____________ . การใช้ภาษาไทย 2. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ (บรรณาธิการ). ภาษากับการสื่อสาร. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.
บรรเทา กิตติศักดิ์ (บรรณาธิการ). ภาษาเพื่อการสื่อสาร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2542.
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ภาษากับการสื่อสาร. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2540.